วันพุธที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551

การพพิมพ์ (PRINTING)

การพิมพ์
คือการจำลองต้นฉบับหนังสือหรือภาพออกเป็นจำนวนมากๆ เหมือนๆ กันบนวัตถุที่เป็นพื้นแบน หรือใกล้เคียงกับพื้นแบน ด้วยการใช้เครื่องมือกล
การจำลองโดยการวาดซ้ำ ๆ ให้เหมือนกันหลายๆ ภาพ การหล่อ การปั้น ไม่เรียกว่าการพิมพ์ เพราะไม่เป็นการใช้เครื่องมือกล

หลักการในการพิมพ์
คือการฉายหมึกลงบนผิวแม่พิมพ์ หรือกดแม่พิมพ์ลงบนผิววัตถุที่จะพิมพ์ ก็จะได้สิ่งพิมพ์ที่ต้องการวิธีพิมพ์ กรรมวิธีในการพิมพ์ แบ่งออกได้ 5 วิธี โดยยึดเอาความแตกต่างของแม่พิมพ์เป็นหลักในการแบ่ง ดังนี้
1. LETTER PRESS PRINTING
2. PLANOGRAPHIC PRINTING
3. GRAVURE OR INTAGLIO
4. PHOTOGRAPHIC PRINTING
5. STENCILL

1. LETTER PRESS PRINTING (แม่พิมพ์นูน)
ลักษณะของการพิมพ์แบบนี้คือ แม่พิมพ์ส่วนที่ใช้พิมพ์จะนูนสูงขึ้นมา ส่วนที่ไม่ใช้พิมพ์จะลดต่ำลงไป เมื่อเอาหมึกทาบนแม่พิมพ์ หมึกจะเกาะติดส่วนที่นูนสูงขึ้นมาเท่านั้น เมื่อใช้แรงกด กดกระดาษลงบนแม่พิมพ์ หมึกจะเกาะติดกระดาษเป็นสิ่งพิมพ์ตามที่ต้องการ
การพิมพ์จากแม่พิมพ์นูน อาจแบ่งออกได้ 2 ลักษณะคือ

1.1 Platen Press เป็นแท่นพิมพ์ที่แม่พิมพ์ตั้งอยู่บนพื้นที่ราบและแรงกดก็เป็นพื้นที่ราบ เช่นเดียวกับ George P.Gordon แห่งนิวยอร์กเป็นผู้สร้างขึ้นในปี ค.ศ. 1858 โดยเอาตัวพิมพ์ (ซึ่งอาจเป็นตัวพิมพ์หล่อ บล็อกไม้ โลหะหรือยาง) เรียงอัดกันไว้ในกรอบแล้วยกขึ้นตั้งบนพื้นแท่นพิมพ์ ซึ่งมีที่ยึดจับตั้งไว้ในกรอบแล้วยกขั้นตั้งบนพื้นแท่นพิมพ์ ซึ่งมีที่ยึดจับไว้ในทางดิ่ง แผ่นแรงกดเป็นแผ่นเหล็กแบนตั้งไว้ในแนวดิ่งเช่นกัน เมื่อพิมพ์จะมีลูกกลิ้งหมึก กลิ้งลงมาหาหมึกบนตัวพิมพ์ ผู้พิมพ์เอากระดาษป้อนบนแท่งแรงกด เครื่องพิมพ์จะผลักแท่นแรงกดเข้าปะทะแท่นที่ยึดตัวพิมพ์ไว้ ก็จะได้สิ่งพิมพ์ตามที่ต้องการ ในบางแท่นที่ต้องการแรงกดมาก อาจมีลักษณะที่ทั้งแท่นยึดตัวพิมพ์และแท่งแรงกดวิ่งเข้าหากระทบกัน ลักษณะระนี้เรียกว่า Clamshell action แท่นพิมพ์ Platen Press ใช้สำหรับพิมพ์งานเล็กๆ เช่น นามบัตร การ์ด ใบปลิว ใบเสร็จ แผ่นแทรกในเล่มหนังสือ ความเร็วของแท่นพิมพ์แบบนี้ ถ้าป้อนกระดาษด้วยมือ อาจได้ 1000-2000 แผ่นต่อชั่วโมง ถ้าใช้เครื่องป้อนกระดาษอัตโนมัติ อาจได้ 3000-5000 แผ่นต่อชั่วโมง
1.2 Cylinder press แท่นพิมพ์ลักษณะนี้ตัวพิมพ์หรือแม่พิมพ์จะถูกยึดอัดไว้ในกรอบบนพื้นแบนและตั้งอยู่บนพื้นแท่นพิมพ์ระดับแนวนอน แรงกดเป็นลูกโมทรงกลม (Cylinder) ตัวพิมพ์จะเลื่อนถอยไปมาได้ โดยพื้นแท่นที่จับตัวพิมพ์ไว้จะเลื่อนไปมาตามราง ไปรับหมึกแล้วเลื่อนกลับมาทางใต้ลูกโม ลูกโมจะจับกระดาษกดลงบนตัวพิมพ์ หมึกก็จะเกาะติดกระดาษออกมา ก็จะได้สิ่งพิมพ์ตามที่ต้องการ
แท่นพิมพ์แบบนี้สามารถพิมพ์งานชิ้นใหญ่ๆ ได้เพราะการเอาลูกโมมาจับกระดาษกดลงบนตัวพิมพ์นั้น แรงกดที่เกิดขึ้นในแต่ละขณะเท่ากับจุดสัมผัสของผิวหน้าลูกโมกับตัวพิมพ์ เป็นเส้นยาวตลอดความยาวของลูกโม ซึ่งอาจใช้แรงกดน้อยแต่อาจพิมพ์ลงบนกระดาษแผ่นใหญ่ๆ ได้
1.3 Rotary letter press แท่นพิมพ์แบบนี้ แม่พิมพ์จะถูกทำเป็นโค้ง สวมติดอยู่กับลูกโมทรงกลม แรงกดก็เป็นลูกโมทรงกลม กระดาษจะผ่านกลางระหว่างลูกโมแรงกดและลูกโมแม่พิมพ์
การพิมพ์ลักษณะนี้สามารถพิมพ์ได้รวดเร็วมาก โดยมากมักใช้กระดาษม้วนพิมพ์ เช่น ใช้ในการพิมพ์หนังสือยกหนังสือเล่ม หนังสือพิมพ์ เป็นต้น

2. PLANOGRAPHIC PRINTING (แม่พิมพ์พื้นแบน)
ลักษณะการพิมพ์วิธีนี้ แม่พิมพ์ที่ใช้พิมพ์ จะเป็นพื้นแบนโดยอาศัยปฏิกิริยาทางเคมี ทำให้ส่วนที่ต้องการพิมพ์รับหมึก ส่วนที่ไม่ต้องพิมพ์ไม่รับหมึก เมื่อเอาหมึกทาบนแม่พิมพ์ หมึกจะเกาะติดอยู่เฉพาะส่วนที่ต้องการพิมพ์เท่านั้นและเมื่อเอาแรงกด กดกระดาษลงบนแม่พิมพ์ หมึกจะเกาะติดกระดาษขึ้นไปก็จะได้สิ่งพิมพ์ตามที่ต้องการแม่พิมพ์พื้นแบน อาจแบ่งได้เป็น 2 แบบคือ
2.1 การพิมพ์หิน (Lithography) ลักษณะสำคัญคือ ตัวแม่พิมพ์เป็นแผ่นหิน ซึ่งมีเนื้อละเอียดสม่ำเสมอ หรือมี grain ในตัว เมื่อเอาน้ำทาบนแผ่นหิน รูตามเนื้อ grain จะอมน้ำไว้ ทำให้แผ่นหินรับน้ำได้สม่ำเสมอกัน
การสร้างแผ่นหินให้เป็นแม่พิมพ์ อาจทำได้หลายวิธี เช่น
ก) การเขียนด้วยดินสอเกรยอง
ข) โดยการใช้กระดาษลอกภาพ
ค) โดยวิธีการทางการอัดรูป
แม่พิมพ์ทุกแบบ เมื่อจะพิมพ์ต้องเอาน้ำทาก่อนเสมอ น้ำจะไม่เกาะตาม grain ของแผ่นหิน
ซึ่งเป็นส่วนที่ไม่ต้องการพิมพ์ เมื่อเอาหมึกทา หมึกซึ่งมีส่วนผสมของไขมัน จะไม่เกาะส่วนที่มีน้ำอยู่ แต่จะเกาะตามรอยของภาพที่สร้างขึ้น ซึ่งเป็นส่วนที่ใช้พิมพ์ แผ่นหินนี้เมื่อใช้พิมพ์เสร็จแล้วสามารถลบรูปลอยหินออก แล้วสร้างภาพขึ้นใหม่ได้อีก
2.2 การพิมพ์ออฟเซท (OFF-SET Printing)
การพิมพ์วิธีนี้แม่พิมพ์เป็นโลหะพื้นแบน แต่นำมายึดติดกับลูกโมทรงกลม เรียกว่า
โมแม่พิมพ์ จะมีลูกกลิ้งน้ำทาน้ำบนแผ่นแม่พิมพ์ก่อน ลูกกลิ้งน้ำนี้เรียกว่า ลูกน้ำ แล้วจึงมีลูกหมึกทาหมึกบนแม่พิมพ์ หมึกที่เกาะติดแม่พิมพ์นี้จะถูกถ่ายทอดลงบนลูกโมยาง ลูกโมยางนี้เป็นลูกโมโลหะทรงกลม แต่ถูกหุ้มไว้ด้วยแผ่นยาง โดยนำแผ่นยางมายึดติดกับลูกโม ลูกโมยางนี้เมื่อรับหมึกจากแม่พิมพ์แล้ว ก็จะนำไปพิมพ์ติดบนแผ่นกระดาษซึ่งจะมีลูกโมแรงกด อีกลูกโมหนึ่งจับกระดาษมากดกับลูกโมยาง และรับหมึกจากลูกโมยางให้ติดบนกระดาษ ก็จะได้ชิ้นพิมพ์ตามที่ต้องการ
การพิมพ์ระบบออฟเซท ต้องมีลูกโม 3 ลูก ขนาดเท่ากัน หมุนพิมพ์กระดาษออกมาแต่ละครั้งเมื่อหมุนรอบหนึ่ง การพิมพ์นั้นหมึกไม่ได้ผ่านจากแม่พิมพ์มาพิมพ์บนแผ่นกระดาษโดยตรง แต่ถ่ายทอดมาโดยผ่านลูกโมยางก่อน ดังนั้นตัวอักษรและภาพที่ปรากฏบนแผ่นแม่พิมพ์ จึงเป็นตัวหนังสือที่อ่านได้ตามปกติ และภาพที่ปรากฏบนแผ่นแม่พิมพ์ จึงเป็นตัวหนังสือที่อ่านได้ตามปกติ แต่เมื่อแม่พิมพ์ พิมพ์ตัวหนังสือหรือภาพลงบนลูกโมยาง ตัวหนังสือหรือภาพบนลูกโมยาง ตัวหนังสือหรือภาพบนลูกโมยางจะกลับซ้ายเป็นขวา ขวาเป็นซ้าย และเมื่อลูกโมยางพิมพ์ลงบนกระดาษก็จะได้ตัวหนังสือหรือภาพเป็นปกติเช่นเดียวกับแม่พิมพ์
แม่พิมพ์ระบบออฟเซท ทำด้วยโลหะส่วนใหญ่เป็นสังกะสีหรืออลูมิเนียมพลาสติค ฉาบด้วยสารไวแสงเช่นเดียวกับฟิล์มถ่ายรูปหรือกระดาษอัดรูป การทำแม่พิมพ์ทำได้โดยการถ่ายภาพโดยตรง หรือจากเอกสารตันฉบับ แล้วผ่านกระบวนการล้าง-อัด-ขยาย จนได้ภาพบนพิมพ์ตามที่ต้องการ
การพิมพ์ระบบออฟเซท เป็นวิธีพิมพ์ที่แพร่หลายและเป็นที่นิยมกันมากในปัจจุบัน เพราะสามารถผลิตงานได้มาตรฐานและมีคุณภาพสูง

3. GRAVURE OR INTAGLIO (แม่พิมพ์ร่องเล็ก)
การพิมพ์วิธีนี้ ส่วนที่ต้องการพิมพ์จะถูกแกะเป็นร่องลึกลงไปในแม่พิมพ์ เมื่อจะพิมพ์เอาหมึกทาบนมาพิมพ์ หมึกมีลักษณะค่อนข้างเหลว จะฝังตัวอยู่ในร่องที่แกะไว้ในแม่พิมพ์ แล้วเช็ดหมึกที่ติดอยู่บนผิวหน้าแม่พิมพ์ออกให้หมด ให้เหลือไว้แต่เฉพาะหมึกที่อยู่ในร่องบนแม่พิมพ์ แล้วใช้แรงกด กดกระดาษลงบนแม่พิมพ์ หมึกนี้จะเกาะติดกระดาษขึ้นไป ก็จะได้ชิ้นพิมพ์ตามที่ต้องการ
การพิมพ์วิธีนี้ให้คุณภาพทางการพิมพ์ดีเยี่ยมทั้งตัวหนังสือ ภาพลายเส้น ภาพลายสกรีนและภาพสีธรรมชาติ การปลอมแปลงก็ทำได้ยาก จึงเหมาะใช้พิมพ์เอกสารที่สำคัญ เช่น ธนบัตร แสตมป์
พันธบัตร จำลองภาพเขียน เป็นต้น
วัสดุที่ใช้พิมพ์นอกจากกระดาษแล้วอาจเป็นผ้าหรือพลาสติคก็ได้
การทำแม่พิมพ์ วัสดุที่ใช้ทำแม่พิมพ์ นิยมใช้ทองแดงหรือเหล็กกล้า การทำร่องอาจทำได้โดยแรงแกะให้ลีกลงไปหรือใช้กรดกัดให้เป็นร่องลึกตามต้องการได้
ระบบการพิมพ์ ระบบการพิมพ์ประกอบด้วยลูกโม่แม่พิมพ์ ซึ่งหมุนผ่านหมึกเหลวจะมีเครื่องปาดหมึกเพื่อเช็ดหมึกที่อยู่นอกร่องออกให้หมด และลูกโมแรงกดจะหมุนพร้อมกับกดกระดาษให้สัมผัสกับแม่พิมพ์

4. PHOTOGRAPHIC PRINTING (การพิมพ์ด้วยแสง)

การพิมพ์วิธีนี้เป็นแบบเดียวกับการอัดรูป ไม่ได้ใช้หมึกพิมพ์ แม่พิมพ์เป็นแผ่นฟิล์ม Negate
เอาตั้งวางทับลงบนกระดาษหรือวัตถุที่จะพิมพ์ เคลือบด้วยน้ำยาไวแสงแล้วเปิดส่องแสงอัดภาพลงบนวัตถุที่เคลือบน้ำยาไวแสงนั้น แล้วนำกระดาษหรือวัตถุที่พิมพ์ไปล้างในน้ำยาเคมี ก็จะได้ภาพตามที่ต้องการ
การพิมพ์วิธีนี้จะได้คุณภาพทางการพิมพ์สำหรับตัวหนังสือ ภาพลายเส้น ภาพลายสกรีน และภาพสีธรรมชาติ มักใช้พิมพ์งานที่มีปริมาณไม่มาก แต่ต้องการคุณภาพสูง
วัสดุที่ใช้พิมพ์ อาจเป็นผ้า แก้ว โลหะ ไม้ หรือวัตถุอื่นๆ ที่เคลือบด้วยน้ำยาไวแสง

5. STENCILL (แม่พิมพ์ลายฉลุ)
การพิมพ์โดยวิธีนี้ แผ่นแม่พิมพ์เป็นแผ่นแบนบางๆ ทึบ หมึกผ่านไม่ได้ การทำแม่พิมพ์ ทำโดยการฉลุรูปรอยต่างๆ ที่จะพิมพ์ลงบนแผ่นแม่พิมพ์ให้ทะลุ เพื่อให้หมึกผ่านได้ เมื่อจะพิมพ์ก็เอาแผ่นแม่พิมพ์นี้ ไปทาบลงบนกระดาษหรือวัตถุอื่นๆ ที่ต้องการพิมพ์ เช่น ผ้า พลาสติค ไม้ เป็นต้น
แล้วเอาหมึกทาบนแผ่นแม่พิมพ์ หมึกก็จะซึมผ่านรอยฉลุลงไปเกาะติดกระดาษหรือวัตถุที่ต้องการพิมพ์ได้
การพิมพ์โดยวิธีนี้ค่อนข้างดีสำหรับการพิมพ์ตัวหนังสือ ภาพลายเส้น ส่วนภาพลายสกรีน
ภาพสีธรรมชาติ ที่เป็นภาพง่ายๆ อยู่ในเกณฑ์พอใช้
ตัวอย่างการพิมพ์วิธีนี้ เช่น การพิมพ์โรเนียว การพิมพ์ชิลด์สกรีน

การพิมพ์ชิลด์สกรีน (SILK SCREEN)
การพิมพ์ชิลด์สกรีนถือเป็นการพิมพ์ระบบเดียวที่สามารถพิมพ์ได้บนวัตถุทุกชนิด (ไม้ เหล็ก ผ้า พลาสติค) ทุกรูปทรง (แบน กลม โค้ง) เนื่องจากเป็นการพิมพ์ที่ใช้ทุนน้อย อุปกรณ์ในการพิมพ์ไม่ต้องใช้เครื่องจักรในขั้นพื้นฐาน เทคนิคความรู้ก็ไม่ยากที่จะฝึกฝน ผู้สนใจนี้ที่ไม่มีประสบการณ์มาก่อนสามารถเรียนรู้และนำไปปฏิบัติ ประกอบอาชีพจากอุตสาหกรรมขนาดย่อมพัฒนาไปสู่อุตสาหกรรมขนาดใหญ่ได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความรู้ความสามารถ เชาว์ปัญญาของแต่ละบุคคล
ชิลด์สกรีนเดิมเรียกว่า “การพิมพ์แบบฉลุ” เป็นการพิมพ์โดยการปากหมึกพิมพ์ผ่านผ้า ตะแกรง เดิมใช้ผ้าไทยสวิส ปัจจุบันใช้ผ้าไนล่อน และผ้าโพลีเอสเตอร์ เนื่องจากหาง่ายราคาถูก
เรียกกันทั่วไปว่า “ผ้าชิลด์” นำผ้าชิลด์มาขึงให้ตึงบนขอบไม้สี่เหลี่ยม ลวดลายชนิดใดที่ต้องการพิมพ์ให้เปิดรูตะแกรง ที่เหลือให้อุดตันด้วยกาวอัดหรือฟิล์ม
การพิมพ์บนวัสดุต่างๆ สามารถทำได้ในระบบนี้ เพียงแต่การพิมพ์วัสดุชนิดหนึ่งชนิดใด
ให้ใช้ผ้าชิลด์ที่มีขนาดความถี่ที่พอเหมาะกับการพิมพ์ชนิดนั้น (ความถี่ของผ้าชิลด์วัดจากจำนวนรูในหนึ่งตารางเซติเมตรหรือตารางนิ้ว) สีที่พิมพ์จะต้องเป็นสีที่มีตัวเกาะหรือตัวนำพาในหมึกหรือสีสำหรับวัสดุชนิดนั้น



เทคนิคการพิมพ์ชิลด์สกรีน
แบ่งออกเป็น 2 ตอนคือ
1. การทำแม่พิมพ์ชิลด์สกรีน ซึ่งแบ่งได้ 3 แบบคือ
1.1 แม่พิมพ์แบบกาวอัด
1.2 แม่พิมพ์แบบฟิล์ม
1.3 แม่พิมพ์แบบผสม


แม่พิมพ์แบบกาวอัด


ขั้นเตรียมอุปกรณ์ อุปกรณ์ที่ใช้คือ
1. เฟรมสกรีนคือผ้าชิลด์ที่ขึงให้ตึง
บนกรอบไม้สี่เหลี่ยม ผ้าชิลด์ต้องใช้ขนาด
ความถี่ของรูผ้าชิลด์ สอดคล้องกับงานที่
พิมพ์วัสดุต่างๆ
1.1 ผ้าชิลด์ที่มีความถี่ห่างหรือหยาบ
ใช้กับการพิมพ์ผ้าพิมพ์กาวกำมะหยี่ ใช้เบอร์
ผ้าชิลด์ 18T - 77T
1.2 ผ้าชิลด์ที่มีความถี่ระดับกลาง
ใช้กับงานพิมพ์กระดาษ สติกเกอร์ลายพื้น
ใช้เบอร์ผ้าชิลด์ 77T – 110T
1.3 ผ้าชิลด์ที่มีความถี่ละเอียด
ใช้กับพิมพ์ลายเส้น อย่างงานพิมพ์นามบัตร
ใช้เบอร์ผ้าชิลด์ 120T – 180T



2. ต้นแบบถ่าย แบ่งได้ 3 แบบ คือ
2.1 แบบฟิล์มโพลิติฟ สั่งทำได้กับร้านถ่ายฟิล์มทำแม่พิมพ์
2.2 แบบเทียนไข ซึ่งเขียนเป็นลายบนกระดาษเขียนแบบผ้าใส
2.3 แบบฟิล์มสีส้ม เป็นแผ่นฟิล์มสีส้มใช้กับงานลายพื้น
3. กาวอัด ซึ่งมีกาวอัดสีฟ้ากับสีชมพู เป็นส่วนที่นำมาอุดรูของผ้าชิลด์ในส่วนที่ไม่ต้องการให้หมึกผ่าน
4. น้ำยาไวแสง เป็นตัวผสมกับกาวอัด ทำหน้าที่พาให้กาวอัดแข็งตัวติดแน่นในผ้าชิลด์ เมื่อถูกแสงแดด แสงนีออนหรือสปอร์ตไลท์สีขาว แต่ไม่มีปฏิกิริยากับแสงแดด
5. ไม้โปรปาดกาวหรือยางปาด โดยให้ส่วนที่ใช้ปาดกาวบนเฟรมสกรีนต้องเรียบเสมอ
6. เครื่องเป่าผมหรือพัดลม เพื่อเร่งเวลาแห้งของกาวอัด
7. แสงจากแดดหรือตู้ไฟนีออนหรือตู้สปอร์ตไลท์ ถ้าเป็นตู้ไฟโดยทั่วไปใช้หลอดนีออนประมาณ 8-20 หลอดขึ้นอยู่กับขนาดของแม่พิมพ์ที่จะทำ ถ้าเป็นสปอร์ตไลท์ใช้ 1 หลอด อาจจะ 500 หรือ 1000 w ก็ได้

ขั้นตอนการทำแม่พิมพ์แบบกาวอัด
ขั้นตอนที่ 1 นำกาวอัดสีฟ้าหรือสีชมพู 5 ส่วน ผสมกับน้ำยาไวแสง 1 ส่วน หรือจะมากน้อยกว่านั้นก็ได้ โดยมีหลักการว่า ถ้าใช้น้ำยาไวแสงมากส่วนก็จะใช้เวลาถ่ายแม่พิมพ์เร็วขึ้น ถ้าใช้น้ำยา
ไวแสงน้อยส่วนก็จะใช้เวลาถ่ายนานขึ้น กวนส่วนผสมให้เข้าเป็นเนื้อเดียวกัน จะใช้เท่าไรผสมเท่านั้น เพราะกาวอัดที่ผสมแล้วจะเสื่อมคุณภาพเมื่อแห้งตัว ควรเก็บไว้ในที่ชื้นและมืด
ขั้นตอนที่ 2 นำเฟรมสกรีนเปล่ามาปาดกาวยางอัดที่ผสมแล้วโดยไม้โปรหรือยางอัด ปาดให้เรียบทั้ง 2 ด้าน การปาดควรปาดไปในทางเดียวกันเสมอ แล้วเอาเฟรมสกรีนที่ปาดกาวมาผึ่งให้แห้งด้วยพัดลมหรือเครื่องเป่าผมให้แห้งในห้องแสงสลัวที่ปราศจากแสงแดดหรือแสงนีออนหรือไฟอาร์คสีขาว
ขั้นตอนที่ 3 นำเฟรมสกรีนที่ปาดกาวอัดแสงสนิทมาวางทาบกับแบบถ่าย โดยเอาด้านผ้าชิลด์ให้แนบสนิทกับแบบถ่ายที่วางด้านตรงบนกระจกของตู้ไฟนีออนหรือตู้สปอร์ตไลท์ และเอาแผ่นวัตถุทึบแสงปิดส่วนที่เป็นลายพิมพ์บนเฟรมสกรีน ตามด้วยวัตถุหนักๆ วางทับ หรือใช้แรงกดบนแผ่นวัตถุทึบแสงแดดโดยการวางวัตถุต่างๆ ในด้านตรงข้ามรับแสงจากข้างบนผ่านกระจกมายังต้นแบบ ใช้เวลาถ่าย 2-4 นาที ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับลายเส้นหรือลายพื้น ส่วนผสมน้ำยาไวแสงในกาวอัดมากหรือน้อย ความเข้มของแสงมากหรือน้อย และในกรณีใช้ตู้ไฟก็เช่นเดียวกัน มีการจับเวลาในการถ่ายแบบ
ขั้นตอนที่ 4 เมื่อถ่ายเฟรมสกรีนจนได้เวลาที่คาดไว้ นำไปแช่น้ำและฉีดน้ำส่วนที่เป็นลายพิมพ์ กาวอัดส่วนที่ถูกแสงจะจับแน่นเนื้อผ้า ส่วนที่ยังไม่ถูกกับแสงจากการบังด้วยหมึกทึบแสงสีดำ
หรือฟิล์มสีส้มจะหลุดออก ซึ่งก็คือลายที่จะมีนั่นเอง เมื่อเห็นลายปรากฏเด่นชัดเจนบนเฟรมสกรีน
ก็ให้นำมาผึ่งด้วยแดดหรือเป่าด้วยเครื่องเป่าผมให้แห้ง แล้วนำไปพิมพ์ได้เลย ถ้าต้องการพิมพ์ได้ทนต้องไปเคลือบน้ำยา
ข้อควรระวังถ้าเวลาถ่ายเร็วไป เวลาล้างกาวอัดจะหลุดออก ถ้าใช้เวลานานเกินไป เวลาล้างกาวอัดจะออกยาก ทั้งสองกรณีต้องนำเฟรมสกรีนไปล้างออกด้วยผงคลอรีน แล้วถ่ายใหม่
คุณสมบัติของแม่พิมพ์แบบกาวอัด
- ใช้กับงานพิมพ์ที่พิมพ์ได้ทั้งหมึกพิมพ์เชื้อน้ำกับเชื้อน้ำมัน
- อุปกรณ์ที่ใช้ทำแม่พิมพ์แบบนี้ หาซื้อได้ด้วยเงินทุนไม่มากนัก
- ความละเอียดของงานพิมพ์ด้วยแม่พิมพ์แบบนี้ ขึ้นอยู่กับฝีมือ

แม่พิมพ์แบบฟิล์ม

แม่พิมพ์แบบฟิล์มมีอยู่ 2 แบบคือ
1. แม่พิมพ์ฟิล์มตัด แบ่งเป็น 2 แบบ คือแบบฟิล์มเขียวกับแบบฟิล์มสีม่วง
1.1 แม่พิมพ์ฟิล์มเขียว อุปกรณ์ที่ใช้คือ
- เฟรมสกรีนเปล่า มีลักษณะเช่นเดียวกับที่ใช้ในแม่พิมพ์แบบกาวอัด
- ฟิล์มเขียว เป็นฟิล์มโปร่งแสงสีเขียว ซึ่งด้านหนึ่งเคลือบด้วยเนื้อฟิล์มเขียว
บนแผ่นพลาสติคใส สามารถลอกแผ่นพลาสติคใสออกจากเนื้อฟิล์มได้
- มีดกรีด ใช้กรีดเนื้อพิมพ์เขียว
- ต้นแบบถ่าย กล่าวไว้แล้วในแม่พิมพ์แบบกาวอัด
- ทินเนอร์ ใช้เป็นตัวกลางเชื่อมให้เนื้อฟิล์มเขียวติดแน่นบนเฟรมสกรีน ทินเนอร์
ให้ปฏิกิริยากับเนื้อฟิล์มพอดีหรือไม่ ใช้ทดสอบ โดยการนำทินเนอร์มาเชคกับ
เศษฟิล์มเขียว ถ้าใช้ได้เนื้อฟิล์มจะเหนียว ถ้าแรงไปเนื้อฟิล์มจะเละๆ ถ้าอ่อนไป
เนื้อฟิล์มจะอยู่ในสภาพเดิม

ขั้นตอนการทำแม่พิมพ์แบบฟิล์มเขียว


ขั้นตอนที่ 1 นำแผ่นฟิล์มเขียวขนาดเท่ากับกรอบเฟรมสกรีน มาทาบต้นแบบแล้วใช้มีดกรีด กรีดตามลายแบบที่ต้องการอย่างเบาๆ ควรระวังอย่ากรีดทะลุแผ่นพลาสติคอีกด้าน
ขั้นตอนที่ 2 เมื่อกรีดเสร็จ ลอกแผ่นฟิล์มที่ต้องการให้หมึกพิมพ์ผ่านออกตามลายพิมพ์ นำแผ่นฟิล์มที่ลอกตามลายแล้วมาวางลงบนกระจกเรียบ เอาด้านเนื้อฟิล์มหงายออก
ขั้นตอนที่ 3 นำเฟรมสกรีนเปล่าด้านนอกมาทาบสนิทกับแผ่นฟิล์มเขียวที่กรีดลายเรียบร้อยแล้ว เพื่อให้ฟิล์มเขียวติดแนบแน่นบนผ้าชิลด์ ใช้ฟองน้ำหรือเศษผ้าสะอาดชุบทินเนอร์หมาดๆ เช็ดถูให้ทั่วในเฟรมสกรีนด้านในผ่านรูผ้าลงบนฟิล์มเขียวให้ทั่ว ผึ่งให้แห้งสนิทแล้วลอกแผ่นพลาสติคใสออก นำไปพิมพ์ได้เลย หมึกพิมพ์จะออกตามลายที่กรีดออกของฟิล์มเขียว
คุณสมบัติของแม่พิมพ์แบบฟิล์มเขียว
- ใช้กับงานพิมพ์ผ้าที่พิมพ์เฉพาะกับหมึกพิมพ์เชื้อน้ำอย่างสีพิมพ์ผ้า
- เหมาะกับงานลายพื้นที่ไม่มีลวดลายละเอียดนัก
- ทุ่นเวลาในการทำแม่พิมพ์ และเงินทุนในการจัดหาตู้ถ่าย

1.2 แม่พิมพ์ชาม่วง
ลักษณะของฟิล์มเป็นสีชาม่วงอ่อนๆ อุปกรณ์ทั่วไป และขั้นตอนการทำแม่พิมพ์แบบนี้เหมือนกับแม่พิมพ์แบบฟิล์มเขียว ต่างก็แต่การใช้ตัวสื่อกลางระหว่างเฟรมสกรีนกับฟิล์ม ใช้น้ำเปล่าหรือน้ำ 3 ส่วนผสมกับแอลกอฮอลล์ (เมทิว) 1 ส่วน เพื่อเร่งเวลาแห้งในเฟรมสกรีนเมื่อถูเช็ด
ติดบนผ้าเฟรมสกรีน
ข้อควรระวัง
จะต้องเก็บไว้ไม่ให้ถูกแสง เพราะจะทำปฏิกิริยากับแสงทำให้ฟิล์มสีม่วงชาเสื่อมคุณภาพทันที

2. แม่พิมพ์แบบฟิล์มถ่าย มีอยู่หลายแบบ แต่ที่ใช้แพร่หลายในวงการพิมพ์ไทยก็คือ ฟิล์มแดง
2.1 แม่พิมพ์ฟิล์มแดง การทำแม่พิมพ์ฟิล์มแดง มีอุปกรณ์ที่ต้องเตรียมดังนี้
- เฟรมสกรีนเปล่า ที่ผ่านการล้างไขของใยผ้าแล้วด้วยผงซักฟอก
- ฟิล์มแดง เป็นฟิล์มโปร่งแสงสีแดง มีลักษณะเช่นเดียวกับฟิล์มเขียว
- ต้นแบบถ่ายฟิล์มโพลิคิฟ
- โฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ ที่มีความข้น 1.2 ใช้เป็นตัวยาล้างฟิล์ม
- ไฟอาร์ค หรือกล้องถ่ายแสงอุลตรา
- ลูกกลิ้ง ใช้กลิ้งให้เฟรมสกรีนด้านผ้าชิลด์แนบสนิทกับแผ่นฟิล์มแดง
- แผ่นยางเรียบ
- แผ่นกระจกใส
ขั้นตอนการทำแม่พิมพ์แบบฟิล์มแดง
ขั้นตอนที่ 1 นำแผ่นฟิล์มแดงกับต้นแบบถ่ายฟิล์มโพลิติฟ มาถ่ายฟิล์มไฟอาร์ค หรือกล้องถ่ายแสงอุลตร้า โดยการวางแผ่นฟิล์มต้นแบบลงบนฟิล์มสีแดง ให้ฟิล์มสีแดงในขนาดเท่ากับขอบเฟรมสกรีน วางทาบให้แนบสนิท โดยด้านเนื้อฟิล์มแดงรองรับแสง ส่วนด้านพลาสติคใสมีแผ่นยางเรียบมารองรับ มีแผ่นกระจกใสวางทาบอยู่เหนือฟิล์มต้นแบบ นำเข้ากล้องถ่ายฟิล์ม ซึ่งถ้าใช้หลอดไฟคาร์บอนอาร์คขนาด 15A ระยะห่าง 50 ซม. ใช้เวลา 6-8 นาที ถ้าขนาด 50A ระยะห่าง
120 ซม. ใช้เวลา 8-11 นาที
ขั้นตอนที่ 2 นำฟิล์มสีแดง หลังจากถ่ายไฟอาร์คมาล้างฟิล์มแดงด้วยไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ ( 1.2 % Volume)
2.2 แม่พิมพ์ฟิล์มม่วง
ขั้นตอนการทำแม่พิมพ์แบบฟิล์มม่วง
ขั้นตอนที่ 1 ใช้แผ่นฟิล์มม่วงในขนาดของต้นแบบถ่าย วางลงบนตู้ไฟหรือแผ่นกระจก โดยให้ด้านเนื้อฟิล์มม่วงหงายรับและประกอบชิดผ้าชิลด์ด้านนอกของฟิล์มสกรีนก่อนปาดกาวอัด
ขั้นตอนที่ 2 ปาดกาวอัดที่ผสมน้ำยาไวแสงในอัตราส่วน กาวอัด 5 ส่วน น้ำยาไวแสง 3 ส่วนคนให้เข้ากัน แล้วปาดให้เรียบทั้งสองด้านของเฟรมสกรีน ถ้าอยากให้ตัวนูนหนา ให้ปาดกาวให้หนาหลายๆ ครั้งจนฟิล์มม่วงแนบติดสนิทกับผ้าชิลด์
ขั้นตอนที่ 3 ผึ่งให้แห้งด้วยลมเย็นของพัดลมหรือเครื่องเป่าผมในห้องสลัวเมื่อแห้งสนิททั่วเฟรมสกรีน ให้ลอกแผ่นพลาสติคใสออกเหลือไว้แค่เนื้อฟิล์มม่วง
ขั้นตอนที่ 4 นำเฟรมสกรีนที่ปากกาวอัดและเคลือบฟิล์มม่วง ไปถ่ายในตู้ไฟหรือแสงแดด ซึ่งวิธีการดังกล่าวได้กล่าวไว้แล้วในแม่พิมพ์แบบกาวอัด แต่ต่างกันตรงที่ให้เวลาถ่ายเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว
ขั้นตอนที่ 5 นำเฟรมสกรีนไปทำการล้างด้วยน้ำฉีด กาวอัดที่เคลือบด้วยฟิล์มม่วงอย่างหนาหรือบางในส่วนที่ถูกแสง จะเกิดแผ่นผ้าชิลด์ในส่วนที่ไม่ถูกแสง กาวอัดจะหลุดออกเป็นลายที่ต้องการพิมพ์ หากเกิดเสียให้ล้างด้วยผงคลอรีน กาวอัดและเนื้อฟิล์มม่วงจะหลุดออกแล้วทำใหม่
ขั้นตอนที่ 6 ผึ่งให้แห้งด้วยลมเย็นของพัดลมหรือเครื่องเป่าผม จากนั้นนำไปทำการพิมพ์ได้เลย


คุณสมบัติของแม่พิมพ์ฟิล์มม่วง
-พิมพ์งานที่ต้องการตัวนูน อย่างนามบัตร ด้วยสีพิมพ์เหล็กหรือสีแห้งช้า โดยใช้ แม่พิมพ์ม่วงอย่างหนา
-พิมพ์งานที่ต้องการให้เส้นคมชัดด้วยสีพิมพ์น้ำมันทั่วไป โดยใช้แม่พิมพ์ฟิล์มม่วงอย่างบาง
-พิมพ์ได้ทั้งสี หมึกพิมพ์ ทั้งเชื้อน้ำมันและน้ำ

เทคนิคในเรื่องแม่พิมพ์

การเคลือบน้ำยาเพื่อให้แม่พิมพ์ใช้พิมพ์ได้นาน
น้ำยาไวแสง ใช้เคลือบกับแม่พิมพ์แบบกาวอัดและแบบผสมที่พิมพ์ได้ทั้งสีหมึกเชื้อน้ำและน้ำมัน ใช้ทาด้านนอกของเฟรมสกรีนที่เป็นแม่พิมพ์เรียบร้อยแล้ว ปล่อยทิ้งให้แห้ง แล้วนำไปพิมพ์ได้เลย ช่วยในการอัดติดแน่นบนผ้าชิลด์ ทนต่อการเสียดสีเวลาพิมพ์
น้ำยาฮาร์ด เดนเนอร์ วิธีการใช้และคุณสมบัติเช่นเดียวกับน้ำยาไวแสงแต่ให้ผลดีกว่า
กาวเคลือบทน ใช้เหล็กกันแม่พิมพ์แบบกาวอัด ที่พิมพ์ได้เฉพาะสี-หมึกเชื้อน้ำเท่านั้น ใช้กาวเคลือบทน ทาเคลือบเช่นเดียวกับน้ำยาไวแสง เพียงแต่ตรงบริเวณที่เป็นลายที่ให้หมึกผ่านบนเฟรมสกรีน จะต้องใช้น้ำมันล้าง (NO 1) เช็ดออก เพราะกาวเคลือบทนจะไม่อุดรูในเฟรมสกรีนส่วนที่เป็นลาย

การล้างแม่พิมพ์เพื่อถ่ายแบบใหม่

วัสดุที่ใช้ล้างได้แก่
1.ผงคลอรีน เป็นผงล้างที่ล้างได้ทั้งแม่พิมพ์แบบกาวอัดกับแบบผสม วิธีการใช้เหมือนกับการใช้ผงซักฟอก แต่ควรใส่ถุงมือเวลาใช้ เพราะกันการกัดมือของผงล้าง
2.น้ำยาล้าง มีหลายแบบ ใช้ล้างแม่พิมพ์แบบฟิล์มและกาวอัด ให้ความสะอาดและปลอดภัย

1. การพิมพ์ชิลด์สกรีน แบ่งได้ 2 เรื่องคือ
1.1 กรรมวิธีการพิมพ์
1.2 กรรมวิธีการใช้สี-หมึกพิมพ์


กรรมวิธีการพิมพ์ สามารถแบ่งออกได้ 3 วิธีคือ
ก. การพิมพ์ด้วยเครื่องจักรอัตโนมัติ
ข. การพิมพ์ด้วยแรงคนที่มีเครื่องจักรช่วย
ค. การพิมพ์ด้วยแรงคนล้วน
การพิมพ์ในแถบประเทศเอเชีย นิยมการพิมพ์ด้วยแรงคนล้วนเพราะค่าใช้จ่ายน้อย อีกทั้งด้านคุณภาพและปริมาณของงานพิมพ์ ที่ไม่จำเป็นต้องอาศัยเครื่องพิมพ์ สำหรับแถบประเทศยุโรป
และอเมริกานิยมใช้เครื่องจักรมากกว่า เพราะงานพิมพ์สอดสีที่ต้องการงานพิมพ์ที่ประณีต ละเอียด
แต่ก็เชื่อมั่นว่า อนาคตในไม่ช้า วงการพิมพ์ไทยจะก้าวล้ำหน้าที่จะนำเครื่องพิมพ์ชิลด์สกรีนมามีส่วนร่วมพัฒนาประเทศ

การพิมพ์ด้วยแรงคนล้วน
เป็นการพิมพ์ที่อาจกล่าวได้ว่า “หัตกรรมการพิมพ์”
ขั้นเตรียมอุปกรณ์ อุปกรณ์เครื่องมือการพิมพ์ก็คือ
1.เฟรมสกรีน ที่เป็นแม่พิมพ์เรียบร้อย แบบใดแบบหนึ่ง ดังที่กล่าวมาทั้งหมดในเรื่องการทำแม่พิมพ์ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับงานที่จะพิมพ์
2.ยางปาด เป็นยางสังเคราะห์เคมีใช้ในด้านการพิมพ์ชิลด์สกรีนโดยเฉพาะ เพราะทนต่อน้ำมันและสี-หมึกพิมพ์ ตลอดจนการเสียดสี สะดวกต่อการล้าง มี 3 ชนิดขึ้นอยู่กับงานพิมพ์ ถ้าเป็นงานพิมพ์ละเอียด ควรใช้แบบหน้าตัดแหลมข้างเดียว ถ้าเป็นงานพิมพ์ทั่วไปควรใช้แบบหน้าตัดล่ม ถ้าเป็นงานพิมพ์หยาบควรใช้แบบหน้าตัดเหลี่ยม
3. แป้นวางพิมพ์หรือโต๊ะพิมพ์ พื้นแป้นหรือโต๊ะพิมพ์จะต้องเรียบ อาจเป็นพื้นกระจก หรือด้านเรียบโดยด้านหนึ่งให้ติดบานพับหรือวัสดุที่คล้ายบานพับ และสามารถยึดขอบเฟรมสกรีนให้อยู่กับที่ เพื่อการพิมพ์ที่แน่นอน และให้ความสะดวกในการวางตำแหน่งที่จะพิมพ์ ด้วยการทำเครื่องหมายขอบเพื่อกำหนดตำแหน่งของสิ่งที่จะพิมพ์แต่ละชั้นให้อยู่ในตำแหน่งเดียวกันกับบนพื้นที่รองรับสำหรับพิมพ์ซึ่งจะต้องเรียบ
4. กาวกันเคลื่อนหรือเทียนไข ใช้ทา (กาว) หรือหล่อ (แผ่นเทียน) ให้เรียบบนพื้นแป้นวางพิมพ์หรือโต๊ะพิมพ์ในตำแหน่งของสิ่งที่จะพิมพ์ เพื่อให้วัสดุที่พิมพ์อยู่กับที่ ไม่ตามเฟรมสกรีนในเวลาพิมพ์ ทำให้ภาพพิมพ์ที่ได้มีสีเรียบไม่เป็นรอยด่าง กาวกันเคลื่อนใช้กับการพิมพ์ผ้า นามบัตร สติกเกอร์ โดยทาบางๆ บนพื้นทิ้งไว้ 10 นาที ก็วางวัตถุที่จะพิมพ์ได้เลย ไม่เป็นใยหรือคราบกาวติดแผ่นวัตถุ สำหรับเทียนไขใช้กับงานพิมพ์ผ้าอย่างเดียว